ต้นดาหลา ที่เห็นในรูปคือสายพันธุ์บานเย็น ดอกสีชมพูสดใส .
ดาหลา หรือ Torch ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์: Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith)
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Liliopsida
อันดับ: Zingiberales
วงศ์: Zingiberaceae
สกุล: Etlingera
สปีชีส์: E. eliator

\"ดาหลา\" เป็นพืชล้มลุกประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวชนิดหนึ่งซึ่งมีดอกที่สวยงาม มีความนิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก ที่อยู่ในวงศ์ขิง( Zingiberales) ซึ่งจัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับขิงและข่านั้นเอง ส่วนลำต้นดาหลาจะอยู่ใต้ดินที่พวกเราเรียกว่าเหง้าซึ่งเหง้าที่พูดถึงนี้จะเป็นจุดกำเนิดของหน่ออ่อนของทั้งต้นและดอกดาหลาต่อไป

ต้นดาหลายังมีพันธุ์ที่มีดอกสีแดง คือ ดาหลาพันธุ์แดงอินโด และดาหลาพันธุ์บัวแดงใหญ่ ไว้ผู้เขียนมีโอกาสพบเจอจะเก็บภาพมาอัพเดทในภายหลัง

สรรพคุณของต้นและส่วนต่างๆของดาหลา
ดอกดาหลาใช้ทานเป็นอาหารในแถบภาคใต้ของไทย ดอกดาหลามีสรรพคุณทางยาในการช่วยขับลมและแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ เนื่องจากมีรสเผ็ดร้อน อีกทั้งยังใช้แก้โรคลมพิษและโรคผิวหนังได้อีกด้วย

การศึกษาทางด้านสารเคมีของดาหลาพบสารสำคัญในกลุ่ม phenolics และ flavonoids ทั้งในส่วนของใบ ดอก และเหง้า ซึ่งล้วนแต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่โดดเด่น โดยมีลำดับความแรงดังนี้ สารสกัดจากส่วนใบ > สารสกัดจากส่วนดอก > สารสกัดจากส่วนเหง้า นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (จากน้ำมันหอมระเหยและใบ) ฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อตับ (จากช่อดอก) ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase (จากใบ) และฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง (จากเหง้า) แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับเซลล์ หลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเท่านั้น สำหรับการศึกษาความเป็นพิษ ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษของพืชชนิดนี้ อีกทั้งการรับประทานในรูปแบบของอาหารก็มีความปลอดภัยสูง แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติการแพ้ ขิง ข่า ไพล หรือพืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE ควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานดาหลา เนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกัน อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

โดยที่มาของสรรพคุณต้นดาหลา ดอกดาหรา เรียบเรียงจาก www.pharmacy.mahidol.ac.th
ดอกดาหลาสามารถนำไปจิ้มน้ำพริกทานได้
ดอกดาหลา สีชมพูสดใส
บริเวณโคนต้นของดาหลา ดาหลาจะขึ้นเป็นกอแน่น สามารถแยกหน่อเพื่อขยายพันธุ์ได้
ดอกดาหลาที่แก่ใกล้โรย
ดอกดาหลาที่แก่ใกล้โรยเมื่อเทียบกับมือ
ลักษณะของใบและต้นดาหลา ลำต้นสามารถสูงได้มากกว่า 3 เมตร .
ต้นดาหลานิยมปลูก และนำมาจัดสวน โดยปลูกเพื่อเป็นไม้บังสายตาได้เป็นอย่างดี บริเวณที่เหมาะแก่การปลูกต้นดาหลาคือ บริเวณที่มีดินชื้น เช่นนำไปจัดสวนบริเวณสระว่ายน้ำ สวนน้ำ สวนน้ำตก นำไปปลูกบริเวณที่ต้องการบังสายตาเช่น ห้องน้ำ ห้องนอนที่อยู่บริเวณชั้นล่าง ดาหลาจะมีลำต้นและใบที่สูง ขึ้นเป็นกอแน่น และมีดอกที่สวยงามในระดับสายตา