ลักษณะใบข้องต้นกุหลาบมิดไนท์บลู แสงแดด
ควรเลือกบริเวณที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ หรือแล้วแต่สานพันธุ์ของกุหลาบนั้นๆ และต้องได้รับแสงแดดประมาณ6 ชั่วโมงขึ้นไป อากาศโปร่งโล่งและลมไม่แรง เพราะอาจจะทำให้กิ่ง และก้านของกุหลาบหักเสียหายได้
การเว้นระยะห่าง
การปลูกกุหลาบลงแปลงควรปลูกให้ทรงพุ่มห่างกันอย่างน้อยประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้สะดวกต่อการตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ย ส่วนการปลูกลงกระถางควรเลือกกระถางให้มีขนาดพอ
ลักษณะดินที่ปลูก
ต้นกุหลาบชอบดินระบายน้ำดี มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ มีซากพืชหรืออินทรีสารเยอะ เหมือนไม้ทั่วไป แต่ไม่ควรมีน้ำขัง
การคลุมหน้าดิน
นำฟางข้าว เศษหญ้า หรือขุยมะพร้าวที่เก่าและย่อยสลายแล้วมาคลุมรอบโคนต้นเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน ลดการระเหยของน้ำ ลดการงอกของวัชพืช
ฤดูที่เหมาะแก่การปลูกกุหลาบในประเทศไทย
กุหลาบเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน และเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์
การให้น้ำกุหลาบ
ควรรดน้ำสม่ำเสมอทุกวัน ช่วงเช้าประมาณ 6.00 น. - 8.00 น. หรือตามความเหมาะสมของสายพันธุ์ และอย่ารดน้ำให้ดินแฉะตลอดเวลา ควรให้ดินมีโอกาสระบายน้ำ และมีอากาศเข้าไปแทนที่บ้าง
การแต่งยอด
เด็ดยอดบริเวณเหนือตาประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อให้เกิดยอดใหม่พัฒนาไปเป็นตาดอก หรือหากหลังการแต่งกิ่ง กุหลาบแตกตาใหม่ขึ้นมาเยอะเกินไปควรปลิดทิ้ง
การตัดแต่งกิ่ง
การดูแลกุหลาบระยะแรกหลังปลูกเมื่อตากุหลาบเริ่มแตก ควรส่งเสริมให้มีการเจริญทางใบ เพื่อการสะสมอาหาร และสร้างกิ่งกระโดง เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ และก้านยาว ซึ่งทำได้ด้วยการเด็ดยอดเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยเด็ดส่วนเหนือใบสมบูรณ์ (5 ใบย่อย) ใบที่สองจากยอด เมื่อดอกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา จากนั้นกิ่งกระโดงจะเริ่มแทงออก ซึ่งกิ่งกระโดงนี้จะเป็นโครงสร้างหลักให้ต้นกุหลาบ ที่ให้ดอกมีคุณภาพดี
การตัดแต่งกิ่งกุหลาบปฏิบัติได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะใช้หลักการที่คล้ายกัน คือตัดแต่งเพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์เพื่อการตัดดอก และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดง (water sprout หรือ bottom break) มากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่ง และไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย การตัดแต่งกิ่งที่นิยมในปัจจุบันได้แก่การตัดแต่งกิ่งแบบ ตัดสูงและต่ำ
การตัดแต่งแบบ ตัดสูงและต่ำ (สูงและต่ำจากจุดกำเนิดของกิ่งสุดท้าย) เป็นการตัดแต่งเพื่อให้มีการผลิตดอกสม่ำเสมอทั้งปี
การใส่ปุ๋ยบำรุง
สามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตของกุหลาบ เพื่อช่วยเพิ่มความโปร่ง ร่วนซุย และธาตุอาหารให้แก่ดินโดยอาจให้ปุ๋ยเม็ดสูตร 15 - 15 - 15 หรือ 16 - 16 - 16 ต้นละ 5 - 10กรัม ทุก 2 สัปดาห์ โดยการเจาะดินเป็นหลุมเล็กๆ ห่างจากโคนต้นประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อหยอดปุ๋ยเวียนรอบโคนต้นไปเรื่อยๆหรืออาจใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 20 - 20 - 20 ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 กรัมต่อ 1 ลิตร รอบโคนต้นประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ซึ่งปุ๋ยเคมีจะดูดซึมได้เร็วกว่า มีธาตุอาหารสูงกว่า แต่อาจทำให้ดินแน่นแข็ง จึงควรสลับกับการให้ปุ๋ยคอก โดยปุ๋ยคอกที่ใช้ควรผ่านกระบวนการหมักและย่อยสลายก่อน ไม่ควรนำปุ๋ยคอกใหม่มาใช้ เพราะอาจทำให้กุหลาบขาดธาตุไนโตรเจนซึ่งอาจส่งผลต่อระบบรากของต้นกุหลาบ โดยดินถุงที่ซื้อมาอาจเก็บไว้ 1 - 2 เดือนก่อนนำมาใช้
ไม่ควรให้ปุ๋ยครั้งละมาก ๆ เพราะต้นไม้จะไม่สามารถดูดซึมได้หมดและยังเป็นการทำให้ดินแน่นแข็ง มีเกลือตกค้าง ทำให้กุหลาบต้องคายน้ำออกมาทางรากเพื่อลดความเข้มข้น จนเกิดอาการใบไหม้และต้นตายในที่สุด
การคัดเลือกสายพันธุ์กุหลาบ
การคัดเลือกพันธุ์กุหลาบในปัจจุบันจะคำนึงถึงประโยชน์ และความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับ มากกว่าการที่ดอกสวยสะดุดตาแต่เมื่อซื้อไปก็เหี่ยวทันที ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์กุหลาบในปัจจุบันมักมีข้อพิจารณาดังนี้
1.มีผลผลิตสูง ปัจจุบันกุหลาบดอกเล็กให้ผลผลิตสูงถึง 300 ดอก/ตร.ม./ปี
2.อายุการปักแจกันนาน พันธุ์กุหลาบในสมัยทศวรรษที่แล้วจะบานได้เพียง 5-6 วัน ปัจจุบันกุหลาบพันธุ์ใหม่ ๆ สามารถบานได้ทนถึง 16 วัน
3.กุหลาบที่สามารถดูดน้ำได้ดี
4.กุหลาบที่ไม่มีหนามหรือหนามน้อยเพื่อความสะดวกในการจัดการ
5.สี สีแดงยังคงครองตลาดอยู่ รองลงมาคือสีชมพู สีอ่อนเย็นตา และสองสีในดอกเดียวกัน
6.กลิ่น เป็นที่เสียดายที่กุหลาบกลิ่นหอมมักไม่ทน แต่ก็มีการผสมพันธุ์กุหลาบตัดดอกกลิ่นหอมบ้าง สำหรับตลาดท้องถิ่น
7.มีความต้านทานโรค และทนความเสียหายจากการจัดการสูง
การขยายพันธุ์กุหลาบ
กุหลาบเป็นพืชไม้ดอกที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายกว่าไม้ดอกอื่น ๆ หลายชนิด คือ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด การตัดชำทั้งด้วยกิ่งและด้วยราก การตอนกิ่ง การติดตา การต่อกิ่ง ตลอดจนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
1. การเพาะเมล็ดกุหลาบ
การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ มุ่งที่จะได้พันธุ์ใหม่ ๆ แปลก ๆ เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากกุหลาบที่ปลูกอยู่ทุก ๆวันนี้เป็นลูกผสมทั้งหมด การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจึงทำให้ได้ทันที ไม่เหมือนพ่อแม่และไม่เหมือนกันเลยระหว่างลูกด้วยกัน จึงไม่เหมาะที่จะใช้โดยทั่วๆ ไป แต่เหมาะสำหรับนักผสมพันธุ์เพื่อที่จะหาพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะดีเด่นกว่าต้นพ่อต้นแม่
ก. การทำให้เมล็ดพ้นจากสภาพการฟักตัว อาจทำได้ 2 วิธีคือ
1. นำฝักกุหลาบที่แก่เต็มที่ไปฝังไว้ในกระบะที่บรรจุทรายชื้น เก็บไว้ในอุณหภูมิ 41 องศาฟาเรนไฮน์ เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว จึงเอาฝักกุหลาบมาแกะเอาเมล็ดเพาะ
2. เมื่อตัดฝักกุหลาบมาจากต้น นำมาผ่าครึ่งด้วยมีด ใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้เขี่ยเอาเมล็ดออกมา เมล็ดกุหลาบมีลักษณะคล้ายเมล็ดแอปเปิ้ล ขนาดใกล้เคียงกัน (ขนาดของเมล็ดขึ้นอยู่กับพันธุ์)ฝักหนึ่ง ๆ อาจจะมีถึง 70 เมล็ด(5-70)
ข. การเพาะเมล็ด หลังจากเมล็ดงอกรากออกมาแล้ว นำเอาไปเพาะในกระถาง หรือกระบะเพาะต่อไป ในต่างประเทศใช้ส่วนผสมสูตรของ จอห์น อินเนส(John Innes) โดยมีส่วนผสมดังนี้
1) ดินร่วน 2 ส่วน
2) พีทมอส 2 ส่วย
3) ทรายหยาบ 1 ส่วน
2. การตอนแบบทับกิ่ง
เป็นการขยายพันธุ์กุหลาบเลื้อยที่ทำกันมานานแล้ว ปัจจุบันยังมีทำกันอยู่บ้าง ด้วยเหตุที่ให้ผลดีและแน่นอน มีข้อเสียอย่างเดียวคือได้จำนวนน้อยและเสียเวลา
กิ่งที่ใช้ตอน ควรจะเป็นกิ่งที่เคยให้ดอกมาแล้ว (ไม่อ่อนเกินไป) เป็นกิ่งอวบสมบูรณ์ ควั่นกิ่งให้ห่างจากยอดประมาณ 6-8 นิ้ว ความยาวของรอยควั่นประมาณครึ่งนิ้ว ลอกเอาเปลือกออก ขูดเอาเยื่อเจริญออกให้หมด ทาด้วยฮอร์โมนเร่งราก เอ็น .เอ็น.เอ. ผสมกับ ไอ.บี.เอ. ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ความเข้มข้น 4,500 ส่วนต่อล้าน (ppm) ทิ้งไว้ให้แห้ง หุ้มด้วยขุยมะพร้าวเปียก หรือกาบมะพร้าวที่ทุบให้นุ่ม แล้วแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืนในต่างประเทศใช้สแพกนั่มมอสชื้น ๆ ห่อด้วยแผ่นพลาสติก มัดหัวท้ายให้แน่นประมาณ 10-12 วันจะมีรากงอกออกมา สามารถตัดไปปลูกได้
3. การขยายพันธุ์กุหลาบด้วยวิธีการต่อกิ่งและการติดตา
การต่อกิ่ง (grafting)
การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ นิยมทำกับกุหลาบที่ปลูกในกระถาง ไม่นิยมทั่วไป เพราะเสียเวลาและไม่มีความแน่อน อีกทั้งต้องใช้ฝีมือพอสมควร
การติดตา (budding)
การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมมากที่สุด ทั้งนี้เพราะสามารถขยายพันธุ์ดีได้เร็วกว่า คนที่มีความชำนาญในการติดตา จะสามารถทำการติดตาได้มากกว่า 1,000 ต้นต่อวัน ต่อสองคน อีกทั้งยังสามารถคัดเลือกต้นตอทีเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละท้องถิ่น และแต่ละพันธุ์ของกุหลาบพันธุ์ดีที่จะนำมาติด
นอกจากนี้ ถ้าตาพันธุ์ดีที่นำมาติดสามารถเข้ากันได้ดีกับต้นตอ จะช่วยส่งเสริมความดีเด่นในลักษณะต่าง ๆ ของกุหลาบพันธุ์ดีที่นำมาติดด้วย ยิ่งไปกว่านั้นกุหลาบที่ใช้เป็นต้นตอส่วนมากจะมีระบบรากที่แข็งแรงกว่ากุหลาบพันธุ์ดี ทำให้การปลูกกุหลาบแต่ละครั้งมีอายุให้ผลยาวนานและผลผลิตสูงกว่าการปลูกกุหลาบจากการตอนกิ่ง หรือการตัดชำ
กุหลาบที่ใช้ทำเป็นต้นตอ ส่วนมากเป็นกุหลาบป่า (Wild species) หรือกุหลาบเลื้อยบางพันธุ์ กุหลาบแต่ละชนิด แต่ละพันธุ์ ใช่ว่าจะเป็นต้นตอที่ดีที่สุดของกุหลาบพันธุ์ดีทุกพันธุ์เสมอไป
โรค
กุหลาบเป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่มีศัตรูมากพืชหนึ่ง ดังนั้นการป้องกันและกำจัดศัตรูกุหลาบให้มีประสิทธิภาพ ผู้ปลูกควรทราบลักษณะสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และวงจรชีวิตของศัตรูนั้น ๆ รวมทั้งการป้องกันกำจัด และการใช้สารเคมีให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่น และควรฝึกเจ้าหน้าที่ให้หมั่นตรวจแปลง และสังเกตต้นกุหลาบทุกวันจะช่วยให้พบโรคหรือแมลงในระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถกำจัดได้ง่าย ในการฉีดพ่นสารเคมีควรใช้สารเคมีชนิดเดียวกันติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 ครั้งเพื่อให้สารนั้น ๆ แสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ จากนั้นนั้นควรสับเปลี่ยนกลุ่มของสารเคมีเพื่อลดการดื้อยา
-โรคราน้ำค้าง (Downey mildew) เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Peronospora spasa ลักษณะการทำลาย อาการจะแสดงบน ใบ กิ่ง คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก การเข้าทำลายจะจำกัดที่ส่วนอ่อน หรือส่วนยอด
-โรคราแป้ง (Powdery mildew) เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Sphaerotheca pannosa ลักษณะการทำลาย อาการเริ่มแรกผิวใบด้านบนจะมีลักษณะนูน อวบน้ำเล็กน้อย และบริเวณนั้นมักมีสีแดง และจะสังเกตเห็นเส้นใย และอัปสปอร์ สีขาวเด่นชัดบนผิวของใบอ่อน ใบจะบิดเบี้ยว และจะถูกปกคลุมด้วยเส้นใยสีขาว ใบแก่อาจไม่เสียรูปแต่จะมีราแป้งเป็นวงกลม หรือรูปทรงไม่แน่นอน
-โรคใบจุดสีดำ (black spot: Diplocarpon rosae) เป็นโรคที่พบเสมอ ๆ ในกุหลาบที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ ๆ หรือปลูกประดับอาคารบ้านเรือนเพียง 2-3 ต้น โดยมากจะเกิดกับใบล่าง ๆ อาการเริ่มแรกเป็นจุดกลมสีดำขนาดเล็กด้านบนของใบ และจะขยายใหญ่ขึ้นหากอากาศมีความชื้นสูง และผิวใบเปียก หากเป็นติดต่อกันนาน จะทำให้ใบร่วงก่อนกำหนด ต้นโทรม ใบและดอกมีขนาดเล็กลง
-โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ลักษณะอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของไวรัส เช่น ใบด่างซีดเหลือง หรือด่างเป็นซิกแซก
-โรคราสีเทา (botrytis: Botryotinia fuckeliana syn. Botrytis cinerea) มักพบในสภาพอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูง และการระบายอากาศไม่ดีพอ ดอกตูมจะเป็นจุดสีน้ำตาล และลามขยายใหญ่และเน่าแห้ง การป้องกันกำจัด เพื่อไม่ให้ดอกกุหลาบถูกฝนควรปลูกกุหลาบในโรงเรือนพลาสติก การป้องกันควรฉีดพ่นสารเคมีด้านข้างและด้านบนดอกด้วย คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์ แมนโคเซ็บ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์
-โรคกิ่งแห้งตาย (die back) เกิดจากตัดกิ่งเหนือตามากเกินไปทำให้เชื้อราเข้าทำลายกิ่งเหนือตาจนเป็นสีดำ และอาจลามลงมาทั้งกิ่งได้ ดังนั้นจึงควรตัดกิ่งเหนือตาประมาณ 1/4 นิ้ว ทำมุม 45 องศาเฉียงลง
แมลงและไรศัตรู
-ไรแดง (Spider mite)
-เพลี้ยไฟ (Thrips)
-หนอนเจาะสมอฝ้าย (Heliothis armigera)
-หนอนกระทู้หอมหรือหนอนหนังเหนียว (onion cutworm: Spodoptera exigua)
-ด้วงกุหลาบ (rose beetle: Adoretus compressus)
-เพลี้ยหอย (scale insect: Aulucaspis rosae)
-เพลี้ยอ่อน (aphids: Macrosiphum rosae และ Myzaphis rosarum)