กระจับ กระจับเขาควาย .
เขาควายต้มสีดำๆ ที่เรากินกันอยู่ คือฝักของต้นกระจับนั่นเอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trapa bicornis
ชื่อวงศ์ : TRAPACEAE
ชื่ออื่นๆ : เขาควาย มะแงง ม่าแงง พายับ

กระจับ จัดเป็นวัชพืชในแหล่งน้ำ มีทั้งหมด 4 ชนิด โดย 2 ชนิด ไม่ค่อยนำฝักการใช้ประโยชน์ ส่วนอีก 2 ชนิด คือ กระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่ และทั้ง 2 ชนิด เรียกทั่วไปว่า กระจับเขาควาย เป็นกระจับที่นำผลมารับประทาน และมีการปลูกในแถบภาคกลาง

ชนิด และการแพร่กระจาย กระจับที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ชนิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

กลุ่มที่ 1
เป็นกระจับที่ผลมี 2 เขา (กระจับเขาควาย) ได้แก่ กระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่
– กระจับเขาแหลม (Horn Nut)
– กระจับเขาทู่ (Water caltrops)

กลุ่มที่ 2
เป็นกระจับที่ผลมีสี่เขา ได้แก่
– กระจ่อม (Jesuit Nut)
– กระจับ (Tinghara Nut)

กระจ่อม พบในจังหวัด นครสวรรค์ ส่วนกระจับ พบในจังหวัด นครศรีธรรมราช ที่เติบโตในลักษณะของวัชพืชน้ำ เป็นกระจับชนิด 4 เขา กระจับชนิด 4 เขา ในประเทศไม่นิยมปลูกเพื่อนำฝักมารับประทาน แต่พบการนำกระจับมาปลูกเพื่อใช้เป็นไม้ประดับหรือใช้ปลูกในตู้ปลา นอกจากนั้น ยังพบการปลูกในแถบประเทศแอฟริกา และยูเรเซีย

สำหรับกระจับเขาแหลม และกระจับเขาทู่ เป็นกระจับชนิด 2 เขา ที่มีการปลูกเพื่อรับประทานผล และเพื่อจำหน่ายผล โดยพบปลูกมากในภาคต่างๆ ได้แก่

ภาคกลาง
– ชัยนาท
– สิงห์บุรี
– อ่างทอง
– สุพรรณบุรี
– อุทัยธานี

ภาคใต้
– นครศรีธรรมราช

ลักษณะทั่วไปของชนิด 2 เขา หรือ กระจับเขาควาย ได้แก่ กระจับเขาแหลม และกกระจับเขาทู่ มี

ลำต้น
ลำต้นหยั่งลึกยาวลงดินใต้ท้องน้ำ โดยมีลำต้นส่วนหนึ่งโผล่บนผิวน้ำคล้ายบัว ที่ประกอบด้วยใบแตกออกด้านข้าง และภายในลำต้นจะประกอบด้วยช่องของอากาศ ส่วนลำต้นบริเวณท้องน้ำจะแตกไหลเลื้อยยาวเป็นข้อปล้อง ส่วนรากมีสีน้ำตาลแดง มี 2 แบบ คือ รากชนิดแรกเป็นรากแตกออกบริเวณข้อของไหล ส่วนรากชนิดที่ 2 เป็นรากหยั่งลึกลงดินเพื่อยึดลำต้นไว้

ใบ
ใบกระจับมี 2 ชนิด คือ ใบใต้น้ำ และใบเหนือผิวน้ำ โดยใบเหนือผิวน้ำมีรูปข้าวหลามตัด ฐานใบกว้าง ขนาดของใบประมาณ 5-7 ซม. ท้องใบ ก้านใบ และเส้นใบมีสีน้ำตาลปนแดง ขอบใบด้านบนหยักเป็นเลื่อย ปลายหยักแยกเป็นติ่งหนามสองติ่งสีแดง ใบมีลักษณะเรียบ สีเขียวเข้ม และเป็นมัน ใบมีขนยาวปกคลุมหนาแน่น ขนมีสีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนก้านใบมีลักษณะพองออก ภายในเป็นช่องอากาศคล้ายฟองน้ำ ทำหน้าที่ช่วยให้ลำต้นลอยน้ำได้ดี ส่วนใบใต้น้ำมีลักษณะคล้ายราก สีเขียว ลำใบเป็นฝอย และเรียวยาว ใบนี้จะแตกออกบริเวณข้อของลำต้น แต่ละข้อมี 2-3 ใบ

ดอก
ดอกกระจับออกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดเล็ก แทงออกบริเวณซอกใบเหนือน้ำ ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ที่มีโคนเชื่อมติดกันยาวเป็นหลอด ซึ่งกลีบเลี้ยงนี้จะพัฒนามาเป็นฝัก ถัดมาเป็นกลีบดอกสีขาว 4 กลีบ ภายในมีเกสรตัวผู้ 2 อัน และรังไข่ 2 อัน

ผล
ผลของกระจับ เรียกว่า ฝัก มีลักษณะคล้ายหน้าวัวที่มีเขาออก 2 ข้าง ที่เจริญมาจากกลีบเลี้ยงของดอก เปลือกฝักเป็นเปลือกแข็ง ผิวเปลือกสีม่วงแดงจนถึงดำ หรือเป็นสีดำ เนื้อด้านในมีสีขาวเป็นก้อนแป้งขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาเป็นใบเลี้ยง และมีก้อนสีขาวขนาดเล็ก 1 อัน แทรกอยู่ ซึ่งจะพัฒนามาเป็นราก และลำต้น

ทั้งนี้ กระจับทั้งสองชนิดมีลักษณะลำต้นคล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันที่ผล คือ กระจับเขาแหลม ปลายผลจะงอโค้งเล็กน้อย และแหลม ส่วนกระจับเขาทู่ ปลายผลจะตรง ไม่โค้งงอ และไม่แหลม

ชนิดที่มี 4 เขา
กระจับชนิด 4 เขา ได้แก่ กระจับ และกระจ่อม มีลักษณะลำต้นทั่วไปคล้ายกับชนิด 2 เขา แต่มีลักษณะเด่นที่แตกต่าง คือ ลำต้นไม่แตกไหล ที่ต่างกับชนิด 2 เขา ที่แตกไหล แต่ใบมีรูปข้าวหลามตัดเหมือนกัน แต่มีขนาดใบเล็กกว่า ส่วนขอบใบด้านบนหยักเป็นเลื่อยเหมือนกัน แต่ค่อนข้างลึกกว่าชนิดแรก ปลายของหยักแหลม ใบมีขนสั้นสีน้ำตาลทองปกคลุม ส่วนก้านใบมีลักษณะพองออกเหมือนชนิดแรก ทั้งนี้ ทั้งสองชนิดจะมีความแตกต่างกัน คือ ผลของกระจับจะมีลักษณะแบน ค่อนข้างบาง และเล็ก ขนาดฝักประมาณ 2 ซม. รวมถึงเขาคู่ล่างจะหันลงด้านล่างในทิศที่ทำมุมกับแนวดิ่ง ส่วนกระจ่อมจะมีลักษณะผลที่หนา และใหญ่กว่า ขนาดฝักประมาณ 5-7 ซม. และเขาคู่ล่างทำมุมกับแนวดิ่งที่กว้างกว่า


ฝักกระจับ หรือ มะแงง, ม่าแงง ,พายับ ประโยชน์ของกระจับ

1. ผลนำมาต้มรับประทาน เนื้อด้านในมีสีขาว ให้รสคล้ายเมล็ดขนุน
2. เนื้อเมล็ดนำมาประกอบอาหารได้ทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน
3. เปลือกฝักที่กะเทาะเนื้อออกแล้ว สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนได้
4. ต้นกระจับใช้ปลูกในกระถางเป็นบัวประดับชนิดหนึ่ง
5. ลำต้น และใบ ตักมารวมกัน ใช้ทำปุ๋ยหมัก
6. ต้นกระจับส่งออกต่างประเทศสำหรับปลูกเป็นบัวประดับ ส่วนฝักส่งออกเช่นกัน ใช้สำหรับรับประทาน และนำเปลือกทำเป็นยาแก้ปวดท้อง ประเทศที่ส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น

คุณค่าทางโภชนาการของกระจับ (เนื้อฝัก 100 กรัม)
– ความชื้น : 70%
– พลังงาน : 117 แคลอรี่
– โปรตีน : 4.7 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 23.9 กรัม
– ไขมัน : 0.3 กรัม
– แคลเซียม : 20 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 150 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 0.8 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1 : ไม่พบ
– วิตามิน B2 : 0.01 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน : 0.6 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 20 IU.
– วิตามิน C : ไม่พบ

ที่มา : กองโภชนาการ 2521. (1)
ต้นกระจับที่ลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ
กระจับจะแตกกิ่ง ไหล ไปเป็นกอบริเวณผิวน้ำ
ดอกของต้นกระจับ หรือเขาควาย
ลักษณะลำต้นใต้น้ำของกระจับ จะไหลยาวไปตามแนวกว้าง แตกกิ่งก้านสาขายาวไปเลื่อยๆ มีรากบริเวณลำต้น แหล่งที่มาของข้อมูล
puechkaset.com
www.vichakaset.com