ต้นสาเก,ลูกสาเก หรือขนุนสำปะลอ .
ต้นสาเกเป็นไม้ผลพื้นเมืองของแถบหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และแพร่หลายไปยังหมู่เกาะอินดีสตะวันตก จนแพร่ขยายไปทั่วภูมิภาคเขตร้อนในที่สุด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus altilis;
วงศ์ : MORACEAE
อังกฤษ : Breadfruit, (เบรดฟรุต)
มาลายาลัม : kada-chakkai
ฮาวาย : อุลุ
อินโดนีเซีย : สุกุน
ตากาลอก : โคโล
ถิ่นกำเนิด : โพลีนีเซีย

ลักษณะทั่วไปของต้นสาเกที่เห็นได้ชัดคือ ลูกสาเก และใบของสาเก ที่จะอยู่คู่กันเสมอครับ ลูกของสาเกนั้นหากมองใกล้ๆจะคล้ายๆกับลูกขนุนครับ แต่ลูกจะเล็กกว่าขนุนมากครับ ขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร และออกลูกกระจายทั่วทั้งต้นอย่างเห็นได้ชัด เนื้อสาเก อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานสูง นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินบี มีสรรพคุณป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ความจำเสื่อม และโรคกระดูกผุในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน สาเกได้นำมาผลิตแปรรูป นำสารสกัดมาเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงผิว เครื่องสำอางค์ ส่วนของดอกใช้ทำเป็นยาไล่ยุง

ใบของสาเก
ใบของสาเกก็มีความโดเด่นไม่แพ้กันครับ ต้นสาเกนั้นก็จัดว่าเป็นพืชที่มีลักษณะของใบที่สวยงามชนิดหนึ่ง ใบสาเกเป็นใบชนิดใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่ ใบมีแฉกลึกเกือบถึงแกนกลางของใบ สีเขียวเข้มและหนา โดยรวมจะพบยางสีขาวอยู่ทั่วทั้งต้นสาเกครับ

ยางของสาเก
ยางสาเกมีลักษณะสีขาวข้น มีในทุกส่วนของต้น นิยมนำมาใช้เป็นยาชันเรือ และยังใช้ในการรักษา หิต กลาก เกลื้อน ได้ด้วย

ดอกสาเก
ดอกสาเกนั้นมีสีเหลืองออกเป็นช่อตามซอกในใกล้ปลายยอด ช่อของดอกตัวผู้ยาว 30 เซนติเมตรโดยประมาณ รูปคล้ายกระบอง และมีลักษณะห้อยลง ส่วนช่อดอกตัวเมียนั้นมีรูปร่างออกกลมๆ ส่วนต้นนั้นกิ่งอ่อนจะมีสีเขียว ลำต้นที่แก่จะมีสีน้ำตาล มียางสีขาวอยู่ภายในลำต้นทั่วทั้งลำต้น และส่วนอื่นๆครับ

เปลือกต้นสาเก
ส่วนของเปลือกต้น ใช้เป็นยาปรับประสาททำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้กระชุ่มกระชวย ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยใช่ส่วนเปลือกต้นอย่างเดียว นำมาย่างไฟจนแห้งแล้วต้มกินแต่น้ำ

ราก
รสเบื่อเมา ในตำรายาโบราณใช้ ราก ยารักษา กามโรค ซึ่งคนในยุคสมัยก่อนเป็นกันแพร่หลายทั้งชายและหญิง ได้ชะงัดนัก โดยฝนผสมกับน้ำดื่มวันละครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 แก้วตะไล จะค่อยๆทุเลาและหายได้ในที่สุด

(ที่มา หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)



สายพันธุ์ของสาเกที่พบในประเทศไทยมีมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ
1. ต้นสาเกพันธุ์ข้าวเหนียว ลักษณะผลใหญ่ เนื้อแน่น เมื่อเชื่อมเนื้อจะเหนียวหนึบ ไม่ร่วนซุย เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันทั่วไป
2. ต้นสาเกพันธุ์ข้าวจ้าว ผลจะเล็กกว่าสาเกพันธุ์ข้าวเหนียว เนื้อค่อนข้างหยาบ ร่วนซุย เหมาะแก่การทำแป้ง ไม่ค่อยนิยมปลูกกันแล้วครับ

การขยายพันธุ์ต้นสาเก
วิธีที่นิยมกันมากคือ การสกัดรากของต้นสาเก ทำได้โดยเลือกรากที่โคนต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติขึ้นไป แล้วใช้มีดหรือเสียมตัดรากให้ขาดออกจากกัน จากนั้นก็ทิ้งรากไว้ในดินอย่างนั้น รากที่ถูกตัดจะแตกหน่อออกมาเป็นต้น อาจจะได้ต้นเดียวหรือหลายต้น ถ้าแตกหน่อออกมาหลายต้นให้สกัดแยกออกเป็นต้นๆ แล้วขุดออกมาปลูกชำในดินปลูกในที่ร่มรำไรสัก 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถนำไปปลูกที่อื่นต่อได้ครับ

การนำสาเกไปใช้ประโยชน์
ผลสาเกนำไปต้มหรืออบจะได้เนื้อนุ่มเหมือนก้อนแป้ง ใช้ทำขนม เช่น เชื่อม แกงบวด ชาวอินโดนีเซียนำสาเกไปอบกรอบใช้เป็นอาหารว่าง และมีการนำไปป่นเป็นแป้งเพื่อทำขนมปังกรอบ เนื้อสาเกมีพลังงานสูง ให้แคลเซียมและวิตามินเอจำนวนมาก ช่วยป้องกันโรคหัวใจและกระดูกพรุน ผลแก่ใช้ทำใช้ทำขนมปัง โดยหั่นเป็นชิ้นบางๆตากแดดหรืออบแห้ง ในฟิลิปปินส์นำผลสาเกต้มสุกกินกับน้ำตาลและมะพร้าวขูดฝอย หรือเคลือบน้ำตาลแล้วทำให้แห้ง

ใบสาเกและผลใช้เป็นอาหารสัตว์ ยางสาเกนิยมใช้เป็นชันยาเรือและใช้ดักนก ก้านดอกตัวผู้มีเส้นใยนำมาผสมกับใยปอสาใช้ทอผ้า เปลือกลำต้นมีเส้นใย ใช้ทอผ้าได้เช่นกัน เนื้อไม้ใช้ทำเรือแคนู กระดานโต้คลื่น หีบและลังไม้
ต้นสาเก หรือขนุนสำปะลอ
ลูกสาเก
ใบสาเก
กิ่ง หรือ ยอดอ่อนของต้นสาเก
ต้นสาเกต้นนี้สูงประมาณ 8 เมตรครับ ถ่ายจากที่สวนของย่าผมเองครับ .
โดยทั่วไปต้นสาเกนั้นสามารถขึ้นได้ในดินทุกประเภทครับ แต่ถ้าดีที่สุดคือดินร่วนจนถึงดินเหนียวที่มีแร่ธาตุอาหารเยอะครับ โรคและแมลงก็แทบจะไม่มีรบกวนเลยครับ ถ้าจะปลูกสาเกเป็นไม้ประดับที่บ้านก็แนะนำว่าเราจะเอารถมาจอดไว้ใต้ต้นสาเกไม่ได้นะครับ เพราะลูกเค้าจะตกมาโดนรถทำให้รถเสียหายได้ครับ รวมถึงยางของต้นสาเกก็อาจจะตกลงมาโดนสิ่งที่อยู่ข้างล่างด้วยครับ