โหระพา ใบอะไรที่นิยมใส่เวลาต้มหอยลาย หรือผัดหอยลาย นั่นคือใบโหระพาครับ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum basilicum L.
ชื่อสามัญ : Sweet Basil
วงศ์ : Labiatae
ชื่ออื่น : ห่อกวยซวย ห่อวอซุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อิ่มคิมขาว (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

โหระพาเป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีขนาดเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยม ลักษณะพิเศษของโหระพาดังนี้ คือเป็นพืชที่มีอายุได้หลายฤดู ลำต้นของโหระพาเป็นสี่เหลี่ยมและเป็นพุ่ม สูง 0.5 - 1 เมตร มีกิ่งก้านเยอะ กิ่งที่แก่ของโหระพาจะมีสีม่วงอมแดง มีขนอ่อนๆ ที่ผิวลำต้น ใบมีรูปร่างแบบรูปไข่ปกติจะยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ใบจะเรียงตัวแบบตรงกันข้ามกัน ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ใบมีสีเขียวอมม่วงและมีก้านใบยาว
ดอกของโหระพา มีขนาดเล็กสีขาวหรือม่วงจะออกเป็นช่อคล้ายฉัตรที่ยอด ดอกมีทั้งสีม่วง แดงอ่อน และสีขาว ในแต่ละดอกจะมีเกสรตัวผู้ ๔ อัน รังไข่แต่ละอันจะมีสีม่วง ผลแห้ง มี 4 ผลย่อย เมล็ดเล็กเท่าเมล็ดงา สีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอมทั้งต้น

การขยายพันธุ์ต้นโหระพานั้น จะนิยมการปักชำเป็นหลัก เพราะง่าย รวดเร็ว และโตไวกว่าการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ และมีความชื้นสูง ปุ๋ยไม่จำเป็นต้องใส่ เน้นการบำรุงดินเป็นหลัก ระยะเก็บเกี่ยวประมาณ 50 วันครับ
ใบอ่อนๆ น่ากิน และก็ดูสวยงามของต้นโหระพาครับ
ลักษณะกิ่งก้านของโหระพา ประโยชน์ของโหระพา
ใบโหระพาเป็นแหล่งเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรค เช่น โรคหัวใจขาดเลือดและมะเร็ง มีเบต้าแคโรทีนสูง ใบโหระพามีกลิ่นเฉพาะใช้เป็นผักสด ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารและมีธาตุแคลเซียมสูงด้วย

ใบสด มีน้ำมันหอมระเหย เช่น methyl chavicol และ linalool ฯลฯ ขับลมแก้ท้องอืดเฟ้อ ใช้เป็นอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสำอางบางชนิด เมล็ดเมื่อแช่น้ำจะพองเป็นเมือก เป็นยาระบาย เนื่องจากไปเพิ่มจำนวนกากอาหาร (bulk laxative) ใช้เป็นยาได้หลายชนิด เช่น ปรุงโหระพาร่วมกับน้ำนมราชสีห์เพื่อกินเพิ่มน้ำนม ตำโหระพารวมกับแมงดาตัวผู้ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อย นิยมรับประทานร่วมกับอาหารประเภทหลน ลาบ ยำ ส้มตำ ใส่ในแกงเขียวหวาน แกงเผ็ด ใช้โหระพาลวกกับหอยเพื่อดับคาว เป็นต้น

น้ำมันโหระพา เป็นน้ำมันหอมระเหยที่พบในใบโหระพามีร้อยละ 1.5 องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ Methyl Chavicol และสกัดได้จากใบโหระพาพันธุ์ไทย โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นของเหลวใสสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมน้ำตาลปราศจากตะกอนและสารแขวนลอย ไม่มีการแยกชั้นของน้ำ มีกลิ่นเฉพาะตัว มีคุณสมบัติแก้จุกเสียดแน่นท้อง น้ำมันหอมระเหยช่วยการย่อยอาหารเนื้อสัตว์ ช่วยคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงช่วยให้สบายท้องขึ้น มีกลิ่นหอมหวาน มีคุณสมบัติช่วยให้สงบ มีสมาธิ ลดอาการซึมเศร้า ข้อควรระวังในการใช้คือ ทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง

โหระพามีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่หลากหลาย ใบสดของโหระพามีสรรพคุณแก้ท้องอืด เฟ้อ ขับลมจากลำไส้ ต้มดื่มแก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร ใช้ตำพอกหรือประคบแก้ไขข้ออักเสบ แผลอักเสบ ต้มใบและต้นสดเข้าด้วยกัน ต้มเอาน้ำดื่ม แก้หวัด ขับเหงื่อ ถ้าเด็กปวดท้อง ใช้ใบโหระพา 20 ใบ ชงน้ำร้อนและนำมาชงนมให้เด็กดื่มแทนยาขับลมได้ ใบโหระพาแห้งต้มกับน้ำ มีสรรพคุณต้านเชื้อก่อโรค
ลักษณะเลือนยอดของโหระพา ใบจะกางออกเป็น 4 ทิศ
ลักษณะใบของโหระพาครับ
การแตกกิ่งก้านของโหระพา จะแตกเหนือก้านใบ เคล็ดลับคือโหระพาที่เราซื้อมาจากตลาด หรือร้านค้านั้น สามารถนำมาปักชำในดินที่มีความอุ้มน้ำดีสักหน่อย ต้นโหระพาก็สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ครับ
ลักษณะช่อดอกของต้นโหระพาครับ
ภาพดอกโหระพาแบบใกล้ๆครับ สวยน่ารักไปอีกแบบนะครับ :)
ช่อดอก และยอดอ่อนของโหระพาครับ