ลักษณะช่อดอกเข้าพรรษา ที่จะห้อยลงมาเป็นระย้าคล้ายกับโครมไฟ
ระหว่างวันเข้าพรรษาจะมีดอกไม้สีเหลืองชนิดหนึ่งขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ๆ กับรอยพระพุทธบาท และเป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาจัดเป็นช่อใส่บาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา นอกจากจะออกดอกในช่วงวันเข้าพรรษาแล้ว ใบประดับที่ทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นกีบดอกจะมีสีขาวตรงกับสีของพุทธศาสนาและดอกที่มีสีเหลืองซึ่งตรงกับสีของพระสงฆ์อีกด้วย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อดอกไม้ชนิดนี้ว่า "ดอกเข้าพรรษา"

ดอกเข้าพรรษานั้นอาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก) กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน) กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) ก้ามปู (พิษณุโลก) ขมิ้นผี หรือกระทือลิง (ภาคกลาง) ว่านดอกเหลือง (เลย)ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี) ที่เรียกว่า "หงส์เหิน" เพราะดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์กำลังจะบิน
ดอกเข้าพรรษา (Smithatris supraneanae W.J.Kress & K.Larsen)
ดอกเข้าพรรษา
ชื่อไทย : ดอกเข้าพรรษา หรือดอกหงส์เหิน
ชื่ออังกฤษ : Globba
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smithatris supraneanae W.J.Kress & K.Larsen
ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชประจำถิ่นของประเทศไทย พบขึ้นตามธรรมชาติบริเวณที่มีหินปูนแถบจังหวัดสระบุรีและลพบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ

ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) ดอกเข้าพรรษาเป็นไม้ล้มลุกสูงประมาณ 1-1.5 เมตร (ขนาดที่โตเต็มที่) มีใบ 5-10 ใบต่อต้น กาบใบสีเขียวอ่อน ก้านใบยาว แผ่นใบเรียบบางสีเขียวอ่อน รูปใบทรงหอก ปลายใบเรียวกลม โคนใบสอบเรียว ใบตรงโคนต้นมีขนาดเล็กกว่า ช่อดอกเข้าพรรษาจะออกที่ปลายต้น ก้านช่อดอกอาจยาวถึง 1 เมตร ทรงช่อคล้ายทรงกระบอกปลายโค้ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบประดับมีสีเขียว-เหลือง เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็นวงแน่น แต่ละใบประดับมีดอกเดียว มีใบประดับย่อยยาว 5-6 มม. ผิวเรียบ กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นดอก ยาว 7-10 เซนติเมตร กลีบดอกเชื่อกันเป็นหลอดแคบเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-3 เซนติเมตร ปลายเว้าเป็นแฉกไม่เท่ากัน แฉกสีเหลืองยาวประมาณ 8-10 มม. แฉกหลังใหญ่กว่าหลอดกลีบดอก ตรงโคนแฉกผายออกเล็กน้อย กลีบปากสีเหลือง ปลายเว้าลึก 2แฉก แต่ละแฉกปลายเว้าตื้นๆ โค้งพับลง เกสรตัวผู้ยาว 5 มม. มีสีเหลือง อับเรณูแบบติดกลางยอดเกสรตัวเมียสีขาวรูปกรวย ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ยาวประมาณ 1-1.5 ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล ดอกเข้าพรรษาจะออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน หรือช่วงเข้าพรรษานั่นเอง
ดอกเข้าพรรษา
การขยายพันธุ์ดอกเข้าพรรษา ทำได้ทั้งการแยกเหง้า และเพาะเมล็ด แต่วิธีที่สะดวกรวดเร็วได้ผลดี คือการแยกเหง้าของต้นดอกเข้าพรรษาโดยตรง จะง่าย และสะดวกที่สุด
ลักษณะของช่อดอกเข้าพรรษา เมล็ดจะอยู่ที่โคนดอก สามารถดูได้จากรูปด้านบน
ดอกเข้าพรรษาเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่สำคัญ นั่นคือประเพณีตักบาตรดอกไม้ ชาวอำเภอพระพุทธบาทได้ยึดถือประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน และปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดเอาวันเข้าพรรษาคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีเป็นวันประเพณีตักบาตรดอกไม้

ในวันนั้น หลังจากที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกเข้าพรรษาไปสักการะ “รอยพระพุทธบาท” พระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำดอกเข้าพรรษาไปสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างที่พระภิกษุเดินลงจากพระมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนก็จะนำเอาน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระล้างบาปของตนด้วย