ผักตบชวา,ผักป่อง,สวะ,Water Hyacinth .
ต้นไม้ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ มีใบลักษณะคล้ายกับใบพาย ก้านใบป่อง เมื่อบีบดูจะรู้สึกคล้ายกับฟองน้ำ ต้นนี้คือผักตบชวา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Eichornia crassipes (Mart.) Solms
ชื่ออื่นๆ : บัวลอย ผักปง ผักตบ ผักปอด ผักป่อง สวะ ผักยะวา ผักอีโยก
ชื่อสามัญ : Water hyacinth, Floating water hyacinth
วงศ์ : Pontederiaceae
ถิ่นกำเนิด : ประเทศบราซิล

ประวัติของผักตบชวา
ผักตบชวาถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียในฐานะเป็นไม้ประดับสวยงาม เจ้านายฝ่ายในที่ตามเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ได้เห็นพืชชนิดนี้มีดอกสวยงาม จึงนำกลับมาปลูกในประเทศไทย และใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมวังสระปทุมขึ้น ทำให้ผักตบชวาหลุดลอยกระจายไปตามแม่น้ำลำคลองทั่วไป และแพร่พันธุ์จนสามารถพบเห็นได้ทั่วไปอย่างในปัจจุบัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักตบชวา
ผักตบชวาเป็นพืชน้ำประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นสั้นแตกใบเป็นกอลอยไปตามน้ำ มีไหล ซึ่งเกิดตามซอกใบแล้วเจริญเป็นต้นอ่อนที่ปลายไหล ถ้าน้ำตื้นก็จะหยั่งรากลงดิน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่หรือเกือบกลม ก้านใบกลมอวบน้ำตรงกลางพองออกภายในเป็นช่องอากาศคล้ายฟองน้ำช่วยให้ลอยน้ำได้ ดอกเกิดเป็นช่อที่ปลายยอดมีดอกย่อย 3-25 ดอกโดยประมาณ สีม่วงอ่อน มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบบนสุดขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ และมีจุดเหลืองที่กลางกลีบ มีสีม่วงเข้มล้อมรอบ ผักตบชวาขยายพันธุ์โดยการแยกต้นอ่อนที่ปลายไหลไปปลูก หรือการใช้เมล็ด ในเวลา 1 เดือนผักตบชวาเพียง 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น หากน้ำแห้ง จนทำให้ต้นผักตบชวาตาย เมล็ดของมันก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปีและทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอมันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป
ผักตบชวา 1 ต้น สามารถให้เมล็ดได้ถึง 5,000 เมล็ด ผักตบชวา 2 ต้น สามารถแตกใบและเจริญเติบโตเป็นต้นได้ถึง 30 ต้น ภายในเวลา 20 วัน หรือเพิ่มน้ำหนักขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 10 วัน สามารถขยายตัวครอบคลุมผิวน้ำได้อัตราร้อยละ 8 ต่อวัน ถ้าเริ่มปล่อยผักตบชวาในแหล่งน้ำเพียง 10 ต้นจะสามารถแพร่กระจายเพิ่มปริมาณเป็น 1 ล้านต้น ภายในระยะเวลา 1 ปี (ยังไม่รวมต้นใหม่ที่เกิดจากเมล็ด)
ลักษณะช่อดอกของผักตบชวามีลักษณะคล้ายกับดอกของ hyacinth จึงได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Water hyacinth
ใบผักตบชวา (อันนี้ถือว่ายังไม่ใหญ่เท่าไหร่ครับ)
ลักษณะของผักตบชวาที่ขึ้นเบียดกันแน่น อ้างอิง
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/index.php/linkweed/372-eichornia
https://th.wikipedia.org
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/index.php/linkweed/372-eichornia