Indian Head Ginger,เอื้องหมายนา,เอื้องช้าง,เอื้องดิน, เอื้องใหญ่,เอื้องต้น,เอื้องเพ็ดม้า ,บันไดสวรรค์ .
ดอกมีส่วนที่คล้ายดอกขิงสีแดง แต่มีดอกสีขาวชูช่ออกมาโดยรอบ ลักษณะต้นเป็นไม้อวบน้ำ ต้นนี้คือเอื้องหมายนา
ชื่อ \"เอื้องหมายนา\" มีที่มาจากประเพณีการสู่ขวัญควาย เนื่องจากชาวนาได้ดุด่า ทุบตีควายระหว่างการไถพรวนในฤดูการทำงาน เมื่อต้นกล้าโตเต็มที่สามารถถอนกล้าไปดำนาแล้วนั้นเป็นอันสิ้นสุดสำหรับการใช้แรงงานของควาย จากนั้นชาวนาก็จะขอขมาลาโทษจากควาย หรือที่เรียกว่า \"สู่ขวัญควาย\" ซึ่งในพิธีจะมีการนำต้นเอื้องหมายนา ไปปักไว้ 4 ทิศของบริเวณพื้นที่นาของตนเองที่เป็นเจ้าของ เอื้องหมายนาที่ปักไว้นี้มีประโยชน์คือ ป้องกันวัชพืชของต้นข้าว เช่น เพลี้ย บั่ว ที่จะมาทำลายต้นข้าว เมื่อป้องกันวัชพืชเหล่านี้ได้ต้นข้าวจะออกรวงดี จึงเป็นที่มาของชื่อ \"เอื้องหมายนา\" ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป

ชื่อวิทยาศาสตร์: Costus speciosus หรือ Cheilocostus speciosus
ชื่อสามัญ : Indian Head Ginger
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่นๆ : เอื้องช้าง (นครราชสีมา) เอื้อง (อุบลราชธานี) เอื้องดิน เอื้องใหญ่(ใต้) เอื้องต้น(ยะลา) เอื้องเพ็ดม้า บันไดสวรรค์

ต้นเอื้องหมายนาเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน สูง 1-3 เมตร โดยประมาณ ขึ้นเป็นกอ ลำต้นกลมอวบน้ำ มีสีแดงไล่ไปจนถึงสีเขียว รากเป็นหัวโตยาว ที่โคนแข็งเหมือนไม้ ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ใบของเอื้องหมายนาเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบลำต้น แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 15-40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน กาบใบอวบสีเขียว หรือสีน้ำตาลแดงโอบรอบลำต้น เส้นใบขนานกับขอบใบ ขอบใบเรียบ มีขนทุกส่วนของต้น ก้านใบสั้น หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบมีขนนุ่ม เนื้อใบหนา

ดอกเอื้องหมายนามีสีขาว 3 กลีบ ออกที่ปลายยอด เป็นรูปปากแตร ใจกลางดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกย่อยสีขาว กลีบดอกบาง ย่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแผ่บานออกเป็นรูปปากแตร ขอบกลีบหยักเป็นลอนคลื่น บนช่อดอกมีกาบสีแดงรองรับดอกแต่ละดอก เกสรเพศผู้เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกลีบดอกขนาดใหญ่ เป็นกรวย ปลายแผ่บานจีบน้อยๆสีขาว ปากขอบกรวยสีเหลือง กลีบเลี้ยงสีแดงเข้ม เป็นแผ่นแบน 3 กลีบ ขอบมน ผลรูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม แห้งแล้วแตก มีเนื้อแข็ง สุกสีแดง ปลายยอดมีกลีบเลี้ยง 1 หรืออยู่เป็นกระจุกแหลม 3 แฉก กาบหุ้มผลสีแดง เมล็ดสีดำเปนมัน พบขึ้นตามชายน้ำ และป่าดิบชื้น

หน่ออ่อนของเอื้องหมายนาที่งอกจากต้นในฤดูฝน ใช้เป็นอาหารได้ แต่ต้องต้มให้สุกเสียก่อนเพื่อขจัดกลิ่น เมื่อนำมาต้ม หรือลวก ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก

สรรพคุณต้นเอื้องหมายนา
- ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เหง้า ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงมดลูก สมานแผลภายใน เข้ายาแก้ซางเด็ก ลำต้น ย่างไฟคั้นเอาน้ำหยอด แก้หูน้ำหนวก
- ตำรายาไทย ใช้ เหง้า รสขมเมา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ตกขาว แก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้แผลหนอง อักเสบ บวม ฆ่าพยาธิ เป็นยาถ่ายพยาธิ เหง้าสดมีพิษมาก ถ้าใช้ในปริมาณมาก จะทำให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างรุนแรง ต้องทำให้สุกก่อนนำมากิน ราก รสขมเมา ขับพยาธิ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง ทั้งต้น สมานมดลูก รักษาอาการปวดมวนในท้อง โรคกระเพาะอาหาร ท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด

องค์ประกอบทางเคมีของต้นเอื้องหมายนา
เหง้ามีสาร diosgenin เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์หลายชนิด

การขยายพันธุ์ต้นเอื้องหมายนา
นิยมขยายทั้งแบบแยกหน่อ แยกกอ และเพาะเมล็ด เอื้องหมายนาเป็นพืชที่ชอบดินที่มีความชื้นสูง โตเร็ว ออกดอกมาก ปลูกได้ทั้งกลางแดดและในที่รำไร ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ขอเพียงมีน้ำ หรือความชื้นเพียงพอ ต้นก็จะงาม และขึ้นเบียดกันจนแน่นครับ เคล็ดลับคือ จับเอื้องหมายนาไปปลูกริมน้ำเลยครับ จะไม่ต้องลดน้ำอีกเลย และต้นจะแตกกอใหญ่ออกดอกสวยงามมากครับ

ข้อมูลทางวิชาการของต้นเอื้องหมายนานี้ได้นำมาจาก ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี www.phargarden.com
และ th.wikipedia.org
ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ :)
ช่อดอกของเอื้องหมายนา
ช่อดอกเอื้องหมายนา ที่ดอกได้โรยไปหมดแล้ว
ช่อดอกเอื้องหมายนาที่ดอกตูมได้แทงขึ้นมา
เอื้องหมายนา
ลักษณะของเอื้องหมายนาจะออกเป็นกอเบียดกันแน่น
ดอกของเอื้องหมายนา
ลักษณะของใบต้นเอื้องหมายนา
ลำต้น และโคนต้นของเอื้องหมายนา