มะระขี้นก ,ผักไห่, มะไห่ ,มะนอย ,มะห่วย, ผักไซ, Bitter Cucumber, Balsum Pear .
มะระลูกเล็กๆ ทรงผลกลมลียาวเหมือนลูกรักบี้ มีรสขม นิยมเป็นทานผักจิ้มกับน้ำพริกชนิดต่างๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia L.
ชื่อสามัญ : Bitter Cucumber, Balsum Pear
วงศ์ : Cucurbitaceae
ชื่ออื่น : ผักไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป)

มะระขี้นกเป็นไม้เลื้อย มีมือจับพันต้นไม้อื่นได้ ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีขนปกคลุม ใบของมะระขี้นกเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกสลับลักษณะคล้ายใบแตงโมแต่เล็กกว่า กลมกว่า มีสีเขียวทั้งใบ ขอบใบหยัก เว้าลึก มี 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ สีเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ เกสรมีสีเหลืองแก่ถึงส้ม กลีบดอกบางมาก ช้ำง่าย ผลของมะระขี้นกเป็นชนิดผลเดี่ยว รูปกระสวยหรือคล้ายๆกับลูกรักบี้ ผิวขรุขระกระจายทั่วทั้งผลอย่างสม่ำเสมอ มีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองถึงส้ม ผลแก่ของมะระขี้นกจะแตกอ้าออกบานเหมือนดอกไม้ เมล็ดสุกมีสีแดงสด รูปร่างกลมแบน สีตัดกับผิวของผลมะระขี้นกสุกชัดเจนครับ

ขัอมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเกี่ยวกับมะระขี้นกว่า

มะระขี้นก (Momordica charantia L.) เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานนับพันปี ในเอเซีย อาฟริกา และละตินอเมริกา อายุรเวทใช้ผลมะระรักษาเบาหวาน โรคตับ บรรเทาอาการโรคเก๊าต์และข้ออักเสบ ตำรายาไทยใช้ใบมะระในตำรับยาเขียวลดไข้ รากในตำรับยาแก้โลหิตเป็นพิษ และโรคตับ

งานวิจัยสมุนไพรมะระได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1962 ซึ่ง Lotlika และ Rao ได้ค้นพบชาแรนตินในผลมะระ ที่แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ในปี 1965 Sucrow ได้พิสูจน์โครงสร้างเคมีของชาแรนติน พบว่าเป็นสารผสมของ sitosteryl- และ 5,25-stigmastadien-3-beta-ol-D-glucosides ในอัตราส่วน 1:1 ปี 1977 Baldwa และคณะ ได้แยกสารคล้ายอินซูลินจากผลมะระและมีฤทธิ์ลดน้ำตาล ในปี 1981 Khana และคณะได้พิสูจน์โครงสร้างของสารคล้ายอินซูลิน พบว่าเป็นโพลีเปปไทด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุล 11,000 ดาลตัน และมีกรดอะมิโน 166 residues เรียกสารนี้ว่า โพลีเปปไทด์ พี สารขมกลุ่มคิวเคอร์บิตาซินซึ่งเป็น chemotaxonomic character ของพืชวงศ์ Cucurbitaceae คิวเคอร์บิตาซินในมะระ คือ momordicosides, momordicins, karaviloside K1 และ charantoside มีรายงานว่าสารขมดังกล่าวมีฤทธิ์ลดน้ำตาล

ในมะระขี้นกมีสารหลายชนิดที่ต้านเบาหวาน และมีหลายกลไกที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวาน ได้แก่ เสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มความทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสในลำไส้เล็ก และยับยั้งเอนไซม์กลูโคไซเดส

น้ำคั้นจากผลมะระขี้นกแสดงฤทธิ์ต้านเบาหวานในกระต่ายและหนูขาว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามะระสามารถชะลอความผิดปกติของไต การเกิดต้อกระจก การเสื่อมของเส้นประสาทซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลเลือดให้ปกติ

การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (8 คน) พบว่าผู้ป่วยทนต่อกลูโคสได้ดีขึ้น ลดระดับน้ำตาลขณะอิ่ม และลดความถี่ของการถ่ายปัสสาวะ จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานบริโภคมะระขี้นกเป็นอาหาร หรือในรูปน้ำคั้นเป็นอาหารเสริม เพื่อช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้ปกติ และชะลออาการต่างๆที่เป็นผลเสียจากโรคเบาหวานที่เป็นมานาน

มะระขี้นก (สีเขียว) มีคุณค่าทางอาหารเพราะมีวิตามินเอ (2,924 IU) ไนอะซิน (190 มก./100 ก) และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ

การเตรียมน้ำคั้นจากผลมะระขี้นก ขนาดที่ใช้ต่อวัน ผลสด 100 ก. นำมาผ่าครึ่ง ใช้ช้อนกาแฟขูดไส้ในและเมล็ดออก หั่นเนื้อผลเป็นชิ้นเล็กขนาดกว้าง 1 ซม. ใส่ในเครื่องปั่นแยกกาก จะได้น้ำมะระประมาณ 40 มล. ดื่มหลังอาหารเช้าหรือเย็น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คลิกที่นี่ครับ
รูปภาพมะระขี้นกโดย Time to Tree
ผลมะระขี้นก
ดอกของมะระขี้นก
ใบของมะระขี้นก
ต้นมะระขี้นก
ต้นมะระขี้นก มะระขี้นกเป็นไม้เลื้อย หากต้องการให้ผลของมะระขี้นกมีลักษณะสวยงามควรปลูกโดยมีที่ให้เลื้อย หรือนั่งร้านให้ต้นมะระขี้นกได้เลื้อย ลูกมะระขี้นกจะไม่ถูกดิน จะห้อย หรือลอยอยู่กลางอากาศ ลูกออกมาจะสวยครับ ต้นที่ถ่ายมาให้ดูนี้ขึ้นอยู่ที่สวนของเจ้าของเว็บ Time to Tree เอง ไม่ได้ตั้งใจปลูกแต่อย่างใดครับ ขึ้นเองตามธรรมชาติ น้ำก็ไม่เคยลดเลยครับ มีแต่น้ำฝนเท่านั้นครับ ไม่รู้ว่ามะระขี้นกเค้าจะน้อยใจบ้างรึเปล่านะครับ :)
ผลสุกของมะระขี้นก สีเหลืองสวยงาม
เมล็ดของมะระขี้นกจะมีสีแดงสดตัดกับสีของผลมะระขี้นก